เดี๋ยวนี้อัตรา “การฆ่าตัวตาย” ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆวัน ถ้าจะค้นหาถึงสาเหตุจริงๆ ก็อาจเพราะชีวิตคนเราในสมัยนี้ ดูจะเปราะบางขึ้นทุกวัน
ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาขึ้น (อย่างต่อเนื่องในทุกๆวินาที)
แม้ว่าอาหารการกินจะสมบูรณ์ขึ้น ทั้งในปริมาณ และคุณภาพ (แถมยังหาซื้อ หาทานได้ทุกที่ และเกือบจะทุกเวลา)
แม้ว่าวิทยาศาสตร์การแพทย์จะก้าวหน้า โรคภัยไข้เจ็บที่สมัยก่อนนี้ จะดู “หมดหนทาง สิ้นหวัง” ที่จะหาทางรักษา แต่เดี๋ยวนี้อยู่หมัด รักษาได้เกือบหมดทุกโรค โรงพยาบาลใหญ่และเล็ก ให้บริการได้ทุกแห่งทุกที่ แถมคลินิกตั้งเรียงรายติดกัน จนทำให้เลือกเข้าไปรักษาแทบไม่ถูก
แต่สำหรับอีกหลายๆคน “เส้นแบ่งความเป็น กับ ความตาย กลับเล็ก และบางลงไปทุกวัน”
สำหรับ “คนที่อยู่ในวัยเรียน” ก็เริ่มมีปัญหาหนักอกหนักใจ กลัวจะไม่มีเงินเรียนต่อ, ไม่มีเงินเสียค่าเทอม, ไม่มีเกรดดีๆ ไปอวดคุณพ่อคุณแม่, ไม่มี “ของฟุ่มเฟือย” อย่างเช่นเพื่อนๆเขามีกัน จึงเกิดความทุกข์ใจ สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการ “ดับชีวิต” (ที่สวยงามของตัวเองซะ)
สำหรับ “คนในวัยทำงาน” มีหน้าที่การงาน มีตำแหน่งงานที่ดี แต่ขาดแคลนเรื่อง “ความรัก” ค้นหา และไขว่คว้า เมื่อไม่ได้สมอารมณ์หมาย ผิดหวัง ก็ลงเอยด้วยการ “ประชดชีวิต” ตายเพื่อพิสูจน์ความรักซะงั้น
สำหรับ “คนในวัยชรา” ที่ใช้ชีวิตมาอย่างโชกโชน ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายสิบปี ต้องตัดสินใจ “ลาจาก” โลกนี้ไป ไม่ได้ด้วย “สังขาร” แต่เนื่องด้วย “ความน้อยใจ” ลูกๆ หลานๆ อย่างไม่มีเหตุผล
เมื่อ “พวกเขาเริ่มอ่อนแอ” และตัดสินใจ “ฆ่าตัวตาย” หนีเหตุผลร้อยแปดพันเก้าไปนั้น ก็ส่งผลกระทบต่อครอบครัวที่ต้องเสียบุคคลอันเป็นที่รัก และยังสูญเสียต่อไปยังประเทศชาติที่ต้องขาดบุคลากรในสังคมที่มีประสิทธิภาพไปอีกคนหนึ่ง ที่น่าวิตกก็คือ ร้อยละ 50-60 ของบุคคลที่ “ฆ่าตัวตาย” นั้น มีอาการบ่งบอกล่วงหน้าว่าเป็น “โรคซึมเศร้า”
จึงน่าแปลกใจมาก ทั้งๆที่ประชากรในโลกอาศัยอยู่แบบ “แออัด” (เบียดเสียดกัน แทบจะชนบ่าชนไหล่), สถานเริงรมย์ตั้งเรียงราย (บนถนนแทบทุกสาย),เครื่องมือสื่อสาร รวดเร็วทันใจ (ให้เลือกใช้ได้ทุกระดับกระเป๋าสตางค์), รายการวิทยุ โทรทัศน์มีหลากหลาย (แทบจะทับคลื่นกัน), ภาพยนตร์มีแบบโรงชนโรง (จนเลือกไม่ถูก), ไหนจะแหล่งท่องเที่ยว (ทั้งในและนอกประเทศ), ไหนจะเทศกาลไทย เทศการเทศ ไหนจะวันหยุดสั้น และวันหยุดยาว
แต่ทำไม? คนยัง “ซึมเศร้า” นอนไม่หลับ กินไม่อร่อย หมดความสนใจโลกรอบข้าง ถึงขนาดไม่คิดอยากจะมีชีวิตอีกต่อไปแล้ว
หากจะพิจารณาให้ลึกซึ้งเข้าไป สาเหตุตัวการแห่งสาเหตุทั้งหลาย ทั้งปวง น่าจะเกิดจากการเป็น “คนแปลกหน้า” (สำหรับตนเอง) จนแทบจะไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง ไม่เคยถาม และตอบตนเองได้อย่างจริงใจ ว่าจริงๆ แล้ว “ต้องการอะไรจากชีวิต?” วันๆก็มีแต่เดินถอยห่างจากตัวตน มัวแต่ตามกระแสรอบข้าง จนแทบไม่ได้เป็นตัวของตัวเองเลย แถมที่สำคัญ ยังไม่กล้าที่จะอยู่ตามลำพังกับตนเอง (เพื่อรับรู้ความต้องการ ความรู้สึก ความคาดหวัง จริงๆ ลึกๆ ในใจของตัวเอง) สุดท้ายจึงเกิดภาวะ “ความเหงา” (เหงาตัวเอง)
“ซึ่งไม่มีความเหงาใด จะร้ายกาจเท่า ความเหงาตัวเอง”
ชีวิตก็เลยว่างเปล่า ไร้แรงบันดาลใจ ไร้ความคาดหวัง
ชีวิตหมดสีสัน ไร้อารมณ์ขำ ไร้เสียงหัวเราะ
ชีวิตหมดรสชาติ ไร้ซึ่งความรักใดๆ (ก็ขนาดตัวเองยังไม่รัก แล้วจะรักใครอื่นได้เช่นไร)
สุดท้าย “โรคซึมเศร้า” จึงเป็นแค่อาการ “ปลายเหตุ” เท่านั้นเอง
เรื่องราวในวันนี้ เราอยากให้เพื่อนๆที่ได้อ่าน ลองนั่งคิดกันเล่นๆว่า “ความเหงา” ที่พวกคุณกำลังประสบพบเจออยู่นี้นั้น เป็น “การเหงากับตัวเอง” หรือ “ความเหงาจากคนรอบตัว” และความเหงาที่ว่านั้น ลึกๆในใจคุณ ต้องการตัวคุณเอง หรือใครสักคนกันแน่? ที่จะมาเข้าใจ และยอมรับในตัวคุณ
ขอบคุณนะคะที่ติดตามอ่าน