Recent News

Powered by eSnips.com

วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2551

โยนความผิด

เห็นการเลี้ยงดู และสอนสั่งลูก ของคนที่เป็นคุณพ่อและคุณแม่สมัยนี้แล้ว สะท้อนให้เห็นความเสื่อมโทรมของสังคมยิ่งนัก หลายครอบครัวมี “ค่านิยม” ในการเลี้ยงลูกที่ผิด เริ่มสั่งสอนเด็กเล็กๆให้ “ไม่รู้จักคำว่าผิด” จะสังเกตุได้จาก เวลาเด็กทำอะไรผิด พ่อและแม่จะปัดความผิดไปให้กับคน หรือสิ่งของอื่น ๆๆยกตัวอย่างเช่น ลูกซุ่มซ่ามเดินชนโต๊ะ แล้วได้รับบาดเจ็บ แหกปาก ร้องไห้โยเยพ่อและแม่ปลอบลูกด้วยการหันไปบ่นหรือทุบตีโต๊ะว่า “เกะกะ” ที่ทำให้ลูกต้องเจ็บ หรือถ้าพี่แกล้งน้อง แล้วน้องร้องไห้ พ่อและแม่จะตัดความรำคาญให้น้องเงียบ โดยทำเป็นแกล้งตีพี่ เพื่อให้น้องพอใจ การกระทำเหล่านี้ ล้วนเป็นการปลูกฝัง การป้ายความผิด ความไม่รู้จักเป็นคนผิด และยอมรับความผิด (จนสร้างเป็นความเคยชิน) “นิสัย” เหล่านี้จะติดตัวมาจนโต และ หล่อหลอมรวมเป็น “สันดาน” (เฮ้อ อนิจจา ความรำคาญเล็กของพ่อแม่ ได้เสริมสร้างสันดานไม่ดีให้ลูกแท้ๆ) อ่านไดอารี่วันนี้แล้ว ยังไงก็สำรวจตัวเองกันนิดนึงนะคะ

“หนึ่ง” ทอมลูกคนเล็ก ที่เอาแต่ใจตัวเอง คบกับ “โบ” ดี้แสนดี ช่างเอาอกเอาใจ ทั้งคู่ดำเนินความสัมพันธ์แบบลุ่มๆดอนๆ เนื่องจากเขาเป็นคนที่เรื่องมาก ขี้บ่น จู้จี้ เธอตามใจเขา (จนเคยตัว) ทั้งคู่ร่วมกันผ่อนรถ ช่วงแรกเขาจะไปรับ-ส่งเธอตลอด ระยะหลังพฤติกรรมเขาก็เปลี่ยนไป เมื่อเขาไปถูกใจผู้หญิงคนนึง เขาตามจีบ ส่งดอกไม้ ไปรับ-ส่งแต่คนนั้น โดยไม่สนใจว่าเธอจะต้องโหนรถเมล์ลำบากแค่ไหน (เธอก็ช่างอดทนเสียจริง) เขาเอาเงินเดือนไป pay ให้กับหญิงคนนั้นจนหมด ไม่พอใช้จ่ายและผ่อนรถ เขาก็หน้าด้านมาขอให้เธอผ่อนรถในส่วนของเขา และขอเงินใช้จ่ายประจำวัน เงินขาดมือเป็นเวลาหลายเดือน

ผู้หญิงคนนั้น ขอให้เขาไปค้ำประกันเงินกู้นอกระบบให้ ด้วยความหลง เขาก็เซ็นค้ำประกันไป และแล้วผู้หญิงคนนั้นก็ออกลาย หนีหายไปจากชีวิตเขา ทำให้เขาต้องรับภาระหนี้เป็นจำนวนหลักแสน ด้วยสภาวะหนี้อันนี้ ทำให้เขาต้องไปยอมรับความจริงกับเธอ (ซึ่งก็ตอแหล ป้ายความผิดให้คนอื่นตลอด) เขาเล่าให้เธอฟังว่า “ผู้หญิงคนนั้นใช้เล่ห์ มายา หลอกให้เขาเซ็นค้ำประกัน จริงๆแล้ว เขาไม่อยากเซ็นแต่เกรงใจ ไม่อยากเสียหน้า เขาไม่ได้เป็นคนผิดนะ คุณนั่นแหละที่ผิด ที่ไม่เคยถามไถ่ เอาใจใส่ เรื่องการบริหารเงินของเขาเลย ก็รู้อยู่ว่าเขาบริหารเงินไม่เก่ง ในเมื่อมันเกิดภาระหนี้แล้ว คุณก็ช่วยใช้หนี้ด้วยแล้วกัน” (นี่คือคำพูดของทอมไม่มีหัวคิด หัวขี้เลื่อย สมองทึบ)

ด้วยคำว่า “ความรัก” เธอก็ต้องก้มหน้าก้มตา ยอมรับหนี้สิน และผิดพลาด (ที่เธอไม่ได้ก่อ) ทุกๆวันที่เธอต้องแบกรับภาระหนี้ แต่เธอไม่เคยท้อ จะดีกว่านี้ หากแค่เขายอมรับในความผิด (ที่เชื่อใจผู้หญิงคนนั้น) และช่วยกันทำงาน หาเงินมาใช้หนี้ ไม่ใช่ป้ายความผิดให้เธอแล้วไม่สนใจเช่นนี้

เราไม่อยากจะโยงไปถึงการเลี้ยงดูลูกในวัยเด็กของพ่อและแม่ เพราะการเลี้ยงดูของพวกท่านก็ล้วนแต่หวังดีต่อลูก แต่ใน “ความรัก” อาจมีการตามใจที่ผิดพลาดอยู่ ที่เกิดขึ้นด้วยการไม่ตั้งใจ ทำให้คนในสังคมหลายคนไม่เคยเรียนรู้ “การยอมรับผิดในสิ่งที่ตัวเองทำ” ใครที่สำรวจแล้วพบว่าตัวเองมีพฤติกรรมเยี่ยงนี้แล้ว ปรับปรุงด่วน เพราะคุณอาจจะไม่โชคดีที่มีคนรักแสนดีอย่างเธอ

ขอบคุณนะคะที่ติดตามอ่าน